1. วิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ ก่อนตัดสินใจลงทุน
เพื่อไม่ให้คุณคัดเลือกแฟรนไชส์ผิด เพราะการซื้อแฟรนไชส์ก็คือการลงทุนซื้อแบรนด์ของคนอื่นมาทำ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยในการลงทุนหลายตัว เช่น ชื่อเสียงของแบรนด์ ความง่ายยากซับซ้อนของการปฏิบัติงาน หรือระบบสนับสนุนจากเจ้าของแฟรนไชส์ ต้องคิดไปถึงทำเลที่จะทำร้านว่าเหมาะกับร้านอาหารที่คุณต้องการลงทุนหรือไม่ ค่าลิขสิทธิ์ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเหมาะสมกับสิ่งที่ได้รับรึเปล่า และจะใช้เวลาคืนทุนนานเท่าไหร่
ซึ่งทั้งหมดนี้เราเรียกกันว่า #การวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ เพื่อจะหาคำตอบว่า การลงทุนครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่? และทางเจ้าของแฟรนไชส์ที่ดี มีความเป็นมืออาชีพจะช่วยเราคิดเรื่องนี้ เพราะถือว่าเราเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตขยายสาขาไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าขายแฟรนไชส์เพื่อหวังกำไรจากเราอย่างเดียว ขายครั้งเดียวและจบกันแบบนี้ถือว่าไม่เป็นมืออาชีพ
2. ระวังคู่มือปฏิบัติงาน และสัญญาแฟรนไชส์ไม่ชัดเจนหรือมีความซับซ้อน
ให้คุณมองว่าแฟรนไชส์ คือการขยายสาขาของแบรนด์แบรนด์นึง โดยที่เราเป็นคนบริหารสาขาให้เจ้าของแบรนด์อีกที และลูกค้ามาใช้บริการเพราะติดใจอาหารและบริการของแบรนด์นี้ ดังนั้นแต่ละสาขาจำเป็นต้องมีมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง โดยปกติแฟรนไชส์มักจะมีการเทรนเจ้าของและพนักงานให้ก่อนที่จะทำการขายจริง และจะมีคู่มือปฏิบัติงานที่จะบอกรายละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานในส่วนต่างๆของร้าน สูตรอาหาร ฯลฯ โดยผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตามให้ถูกต้อง
ถ้าคู่มือเข้าใจยาก ไม่มีการอบรมก่อนเริ่มธุรกิจ ก็ยากจะรักษาคุณภาพได้ตามที่แบรนด์กำหนด รวมถึงสัญญาแฟรนไชส์ที่ไม่ชัดเจน ไม่ได้ระบุชัดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เช่น ปรับสูตรอาหารได้หรือไม่ เปลี่ยนการตกแต่งร้านได้หรือไม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะทำให้การปฏิบัติงานยากขึ้น ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เมื่อเกิดข้อสงสัย
ดังนั้นถ้าตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ต้องศึกษาคู่มือและสัญญาให้ละเอียดก่อน ถ้าไม่แน่ใจอะไรให้ซักถามเจ้าของแบรนด์ก่อนลงทุนทำแฟรนไชส์
3. ทำเลไม่รุ่ง ไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ต่อให้แบรนด์ดังแค่ไหน อร่อยยังไง แต่ถ้าเปิดผิดที่ก็ชวดลูกค้าได้ง่ายๆ ขอยกตัวอย่างกรณี แฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่นเจ้าหนึ่ง ขายซูชิคำละ 15 - 35 บาท สาขา A เปิดในปั๊มน้ำมันใกล้กับโรงพยาบาลเอกชน สถานศึกษา แหล่งธุรกิจ คอนโด และหมู่บ้านจัดสรร มีลูกค้าหมุนเวียนเข้าออกตลอดเวลา สาขานี้สามารถทำรายได้ต่อเดือนได้หลักแสนบาท
แต่ในขณะที่อีกสาขาหนึ่ง เปิดใกล้กับตลาดสดย่านปริมณฑล เป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งทำงานอื่น ไม่มีสถานศึกษาอยู่ใกล้ ไม่มีหมู่บ้านและยังมีคู่แข่งเป็นร้านซูชิราคาถูกในตลาดอีกหลายเจ้าที่คอยตอบโจทย์ผู้ที่สัญจรแถวนี้มากกว่า สาขานี้จึงทำนี้ยอดขายได้เพียงหลักหมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น
เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้วแทบจะไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำไป ดังนั้นจำเอาไว้ว่า ทำเลเป็นสิ่งสำคัญ
แต่โดยปกติแล้วเจ้าของแฟรนไชส์จะช่วยเราวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ว่าทำเลที่เราตั้งใจจะเปิด ว่ามีโอกาสในการขายได้กำไรมากน้อยขนาดไหน แต่ถึงอย่างไรก็ตามเบื้องต้นเราเองก็ต้องลองวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ และกลุ่มเป้าหมายของแฟรนไชส์ที่เราไปรับมาเปิดให้ได้ด้วยเช่นกัน
4. ไม่ยอมเก็บค่า Royalty ถึงต้นทุนต่ำแต่ความเสี่ยงก็สูงปรี๊ด
Royalty fee คือค่าตอบแทนที่เจ้าของแฟรนไชส์เรียกเก็บอย่างต่อเนื่องจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยจะคิดจากยอดขาย และโดยทั่วไปมักจะเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายแต่ละเดือน ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งของผู้ซื้อแฟรนไชส์นั่นเอง
ค่า Royalty fee นี้ถือเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งโดยทั่วไปจะนำรายได้ส่วนนี้ไปสนับสนุนแบรนด์และสาขาต่างๆอีกทีหนึ่ง เช่น ค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาแบรนด์ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าการตลาด (ซึ่งบางเจ้าอาจเก็บแยกออกมาต่างหาก) ฯลฯ
ทั้งนี้เจ้าของแฟรนไชส์หลายเจ้ามักจะไม่เก็บค่า Royalty fee เพื่อทำให้คนซื้อรู้สึกว่าต้นทุนต่ำลง และดึงดูดให้คนมาซื้อแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น
แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเจ้าของแฟรนไชส์ไม่มีรายได้ต่อเดือนในการเอาไปบริหารการตลาดของแบรนด์แล้ว ภาระความเสี่ยงทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์เท่านั้น โดยเฉพาะแฟรนไชส์บางเจ้าที่จ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวแล้วจบ ซึ่งหลังจากนั้นจะไม่มีมีการซัพพอร์ตจากแบรนด์เท่าไหร่ หรือถ้ามีการซัพพอร์ตก็จะน้อยมาก เพราะเจ้าของบางเจ้าก็ถือว่าขายขาดไปแล้ว
5. ขาดความพร้อม ขาดแผนสนับสนุน และแผนการตลาดในระยะยาว
อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี คือการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจระหว่างเจ้าของและคนซื้อแฟรนไชส์ และคุณต้องเข้าใจว่าเจ้าของแฟรนไชส์เองก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกในธุรกิจ และทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่งจึงอยากต่อยอดธุรกิจตัวเอง
ในขณะที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็อยากเข้ามาลงทุนในธุรกิจโดยยอมเอาเงินก้อนมาลงทุนเสี่ยงโดยที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนั้นๆ ดีเท่าเจ้าของแฟรนไชส์ ดังนั้นเจ้าของแฟรนไชส์จะต้องเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับผู้ซื้อด้วย และคอยสนับสนุนการทำงานของผู้ซื้อแฟรนไชส์ทุกในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะต้องช่วยวางแผนการตลาดในกับร้าน เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายและสร้างกำไรให้กับผู้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่มีระบบซัพพอร์ทคนซื้อแฟรนไชส์ที่ดี ไม่มีแผนการตลาดที่มองถึงความมั่นคงในอนาคตของผู้ร่วมลงทุน ก็ถือว่าไม่มีความพร้อมในการทำแฟรนไชส์ และไม่ถือว่าเป็นเจ้าของแบรนด์ที่มีคุณภาพ ดังนั้นหากใครสนใจธุรกิจแฟรนไชส์ควรศึกษาคัลเจอร์ของธุรกิจ และนโยบายการดูแลและช่วยเหลือของแฟรนไชส์ให้ดีก่อนลงทุน